ประวัติการแต่งอัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ของ ดรุณศึกษา

ในขณะที่ ฟ.ฮีแลร์ กำลังแต่งอัสสัมชัญ ดรุณศึกษาอยู่นั้น ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้ประทานคำแนะนำและทรงแก้ไขให้ด้วยพระองค์เอง จากการแนะนำของบาทหลวงเอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์ ทั้งยังประทานคำชมแก่ท่านเจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ ในการแต่งอัสสัมชัญ ดรุณศึกษาอีกด้วย หลักฐานเก่าแก่ที่สุดในเรื่องการปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับอัสสัมชัญ ดรุณศึกษาอยู่ในจดหมายที่ ฟ.ฮีแบร์ส่งไปหาสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2453 ความว่า[2]

อนึ่ง ข้าพระเจ้ามีความยินดีที่จะทูลให้ทรงทราบว่าหนังสือดรุณศึกษาที่พระองค์ทรงโปรดแก้ไขนั้น บัดนี้ได้ลงมือพิมพ์แล้ว สิ้นศกนี้ คงแล้วเล่มต้นเปนแน่ แต่เล่มสองนั้นจะตัดแก้ไขอีกมาก ตามความที่ปรากฏในพงศาวดารต่าง ๆ ซึงพระองค์ทรงพระเมตตาพระราชทาน

ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ฟ.ฮีแลร์ได้เริ่มแต่งแบบเรียนที่จะสำเร็จออกมาเป็น อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กลาง และ อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน ปลายไว้แล้ว ตั้งแต่ก่อนที่อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ จะเสร็จสมบูรณ์ด้วยซ้ำ

อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอนกลาง

ภายหลังตีพิมพ์อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ ใน ปี พ.ศ. 2453 ( ค.ศ. 1910) ฟ.ฮีแลร์ยังคงดำเนินการแต่งอัสสัมชัญ ดรุณศึกษาเล่มที่สองต่อมาเรื่อย ๆ ระหว่าง ปี พ.ศ. 2454 (ค.ศ. 1911) จนถึง พ.ศ. 2457 ( ค.ศ. 1914) หลังจากนั้นไม่ถึงเดือน ทั้งโลกก็เผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ ปะทุขึ้นเมื่อ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2457 (ค.ศ. 1914)[3] ฝรั่งเศสกลายเป็นหนึ่งในสมภูมิรบหลัก ต้องทำสงครามเต็มรูปแบบกับเยอรมนี รัฐบาลฝรั่งเศสได้เรียกชาวฝรั่งเศสในต่างแดนให้กลับไปช่วยบ้านเมืองของตน ฟ.ฮีแลร์พร้อมด้วย ภราดาหลุยส์ ชาแนล ภราดาโอเซ และบาทหลวงอีก 13 คน ได้ลงเรือโปรดิวซ์ โดยสารกลับประเทศฝรั่งเศสในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2457 (ค.ศ. 1914) ฟ.ฮีแลร์ได้ประจำการในหน่วยเสนารักษ์ ณ โรงเรียนพยาบาลซูร์มือเอ เมืองปัวติเย[4] ภารกิจในการแต่งอัสสัมชัญ ดรุณศึกษาของท่าน จึงหยุดชะงักลงชั่วคราว

เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ ฟ.ฮีแลร์ได้เดินทางกลับเมืองไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2459 (ค.ศ. 1916) ฟ.ฮีแลร์ได้กลับมาสานงานแต่งแบบเรียนต่ออีกครั้ง ในคราวนี้เนื้อหาที่ท่านรวบรวม เรียบเรียงขึ้นมาคงมีความเพียบพร้อมมากขึ้นแล้ว เพียงพอที่จะรวมเล่มตีพิมพ์ได้ แต่ยังต้องการการตรวจสอบจากผู้อื่นอีกที เพื่อความถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์มากขึ้น ฟ.ฮีแลร์จึงติดต่อกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขอให้เป็นพระธุระ ซึ่งพระองค์ก็ทรงช่วยเหลือ ดังจะเห็นได้จากในจดหมายฉบับต่าง ๆ ที่ทรงโต้ตอบกับ ฟ.ฮีแลร์ สำหรับวิธีการตรวจนั้น ได้มีการติดต่อกันทางจดหมาย โดยส่งหนังสือต้นฉบับกลับไปกลับมา ฟ.ฮีแลร์ร้องขอให้พระองค์ทรงช่วยตรวจทานจนจบทั้งเล่ม พร้อมทั้งเสนอให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพแก้ไขลงในเล่มเลย โดยไม่ต้องเขียนข้อแก้ไขแยกต่างหากในกระดาษอื่นเพื่อความสะดวก โดยมียอร์ช เซเดส์เป็นคนกลางในรับส่งเรื่อง เนื่องจากในบางครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงประทับอยู่ที่หัวหิน พระองค์ทรงประทานความคิดเห็น ข้อแก้ไข ต่าง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาอัสสัมชัญ ดรุณศึกษาให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่การติดต่อกันผ่านทางจดหมายเพียงอย่างเดียวยังมีข้อจำกัดอยู่ ไม่อาจชี้แจงข้อแก้ไขบางประการให้กระจ่างได้ จึงได้มีการนัดพบกันเพื่อตรวจแก้ไขในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1921) ก่อนที่จะมีการตีพิมพ์เป็นอัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กลาง ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1921)

อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอนปลาย

อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน ปลายก็คงได้มีการจัดเตรียมพิมพ์ไว้แล้วเช่นกัน แต่พอดีกับช่วงเวลานั้น กระทรวงศึกษาธิการได้ชำระอักขรบัญญัติขึ้นมาใหม่ อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอนปลายที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวสะกด พยัญชนะ การันต์ คำศัพท์ต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามปทานุกรมใหม่นั้นด้วย[5] การพิมพ์อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน ปลายจึงได้ล่าช้าไปจากอัสสัมชัญดรุณศึกษา ตอน กลาง เกือบ 1 ปี แต่เหตุที่ระยะเวลาไม่ห่างเท่ากับที่อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ และอัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กลางตีพิมพ์นั้น ก็เพราะเรื่องราวที่นำมาแต่งเป็นอัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน ปลายได้แต่งขึ้นมาพร้อมกับเนื้อหาในอัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กลางนั้นเอง เพียงแต่นำมาเรียบเรียง แบ่งบท และจัดพิมพ์แยกเป็นอีกเล่มหนึ่ง แต่ในระหว่างนั้นก็ได้มีการเพิ่มเติมเนื้อหาอีกเพียงเล็กน้อย เพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น เมื่อสำเร็จเสร็จพร้อมดีแล้ว จึงได้ตีพิมพ์อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน ปลาย ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2464 (ค.ศ. 1922)[6]